0

5G อนาคตแห่งโลกโทรคมนาคม

2018-03-09 11:29:13 ใน Article บทความ » 0 2579

5G อนาคตแห่งโลกโทรคมนาคม


 

 










การประมูลคลื่น 900MHz ที่เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (AWN) ในฐานะผู้ชนะใบอนุญาต
คลื่นย่าน 895 – 905MHz/940 – 950MHz ไปในราคา 75,654 ล้านบาท (ซึ่งถ้ายังจำกันได้คลื่นในย่านนี้คือคลื่นที่ JAS ชนะประมูลได้ หากแต่ไม่สามารถมา
ชำระเงินค่าใบอนุญาตในงวดแรกได้ตามที่ กสทช. กำหนด จึงจำเป็นมีการจัดประมูลคลื่นดังกล่าวใหม่) นับว่าเป็นการสิ้นสุดของสงครามการประมูลคลื่น
ที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน ซึ่งหลายๆ คนมักจะพูดกันติดปากว่า “การประมูลคลื่น 4G” ซึ่งแท้ที่จริงแล้วจะเรียกการประมูลคลื่น 4G ก็อาจจะไม่ถูกต้องซะทีเดียว
เนื่องจากคลื่นดังกล่าวอาจจะถูกใช้งานสำหรับโครงข่าย 2G หรือ 3G ก็สามารถทำได้ ทั้งนี้เมื่อเสร็จสิ้นจากการประมูลคลื่น 4G จึงทำให้เกิดการพูดถึงการประมูลคลื่น
สำหรับเทคโนโลยี 5G ในอนาคต แต่ที่จริงแล้วเทคโนโลยี 5G คืออะไรล่ะ รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร และมีความเร็วขนาดไหน ในบทความนี้ผู้เขียน
จึงมีความตั้งใจที่แบ่งปันถึงสถานการณ์ปัจจุบันสำหรับเทคโนโลยี 5G เพื่อให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้เข้าใจถึงเทคโนโลยีในยุค 5G อย่างแท้จริง

สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU (International Telecommunication Union) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การสหประชาชาติที่ทำหน้าที่
ในการกำหนดมาตรฐานของนิยามของเทคโนโลยีทางโทรคมนาคม หรือจะพูดง่ายๆ ว่าเป็นผู้ที่สามารถกำหนดนิยามของเทคโนโลยี 5G ได้นั้น ณ เวลานี้
(เดือนธันวาคม พ.ศ. 2559) ITU ยังไม่ได้กำหนดคำนิยามของเทคโนโลยี 5G ซึ่งหากจะให้พูดง่ายๆ ก็คือ ยังไม่มีนะ 5G ยังไม่มีใครสามารถบอกได้เทคโนโลยี 5G
จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และมีความเร็วขนาดไหน ดังนั้นไม่ว่าท่านผู้อ่านได้ยินหรือได้เห็น 5G จากที่ไหน อยากให้ระลึกไว้เสมอว่า อาจเป็นเพียงการคาดคะเน
หรือข้อมูลสมมติเท่านั้น ไม่ใช่ข้อมูลอย่างเป็นทางการที่เป็นข้อเท็จจริง อ่านมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านอาจจะเกิดความสงสัยว่า แล้วบทความนี้แท้จริงต้องการสื่อถึงอะไร
ทั้งนี้เนื่องจากมาตรฐานอย่างเป็นทางการยังไม่มีการถูกกำหนด การพูดถึงเทคโนโลยี 5G ของผู้เขียนต่อไปนี้ เป็นเพียงการรวบรวมสถานการณ์การพัฒนา
เทคโนโลยี 5G และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยอาศัยการรวบรวมข้อมูลข่าวสารผสมกับประสบการณ์ที่ผู้เขียนคลุกคลีอยู่ในวงการมาระยะหนึ่ง
























ในประเทศเกาหลีใต้ซึ่งอ้างว่าตนจะเป็นประเทศแรกที่สามารถใช้งานเทคโนโลยี 5G ในเชิงพาณิชย์ได้ ในปัจจุบันภายใต้ความร่วมมือ Samsung
และ KT Corporation ได้มีการร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือ และทดลองการใช้งานการส่งผ่านข้อมูล ที่มีความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุดถึง 1.17Gbps
หรือหากจะเปรียบเทียบกันอย่างเข้าใจง่ายคือเป็นความเร็วในระดับที่สามารถดาวน์โหลดไฟล์ภาพยนตร์ที่มีคุณภาพระดับ full HD ให้เสร็จภายใน 10 วินาทีเท่านั้น
โดยการทดสอบดังกล่าว ได้ทำการทดสอบกับคลื่นความถี่ในย่านต่ำอย่าง 800MHz และคลื่นความถี่สูงมาก ๆ อย่าง 28MHz และจำกัดแต่ในพื้นที่ขนาดเล็กเท่านั้น
ซึ่งทาง KT Corporation ได้ประกาศว่าหลังจากกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปี พ.ศ. 2561 ที่จะจัดขึ้นประเทศเกาหลีใต้ หรือในช่วงประมาณต้นปี พ.ศ. 2562
ทาง KT Corporation จะสามารถเปิดให้ใช้งานบริการ 5G ในเชิงพาณิชย์ได้

ข้ามไปไม่ไกลประเทศเกาหลีใต้ ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี 5G โดย Ministry of Internal Affairs
and Communication ของประเทศญี่ปุ่นในฐานะแม่งาน ได้มีจัดการประชุมการพัฒนา 5G โดยอาศัยความร่วมมือจากผู้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ทั้ง 3
เจ้าของประเทศอย่าง NTT DoCoMo, KDDI และ SoftBank และผู้ผลิตอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์โครงข่ายรายยักษ์อีก 3 เจ้าอย่าง Panasonic, Sharp
และ Fujitsu ในการร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี 5G โดยรัฐบาลคาดหวังให้สามารถให้มีการใช้งาน 5G ซึ่งมีความเร็วมากกว่า LTE 100 เท่าในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี
พ.ศ. 2563 ที่มีการจัดงานกีฬาโอลิมปีกที่ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ผู้เขียนแอบได้ยินมาว่าผู้บริการโทรศัพท์มือถืออันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น NTT DoCoMo
ในปัจจุบันได้เริ่มพัฒนาและทดสอบการใช้งานเทคโนโลยีที่มีความเร็วสูงเทียบเคียงกับ 5G เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในฝั่งตะวันตกเองก็ไม่น้อยหน้า ต่างให้ความสนใจการพัฒนา 5G ด้วยเช่นกัน ในสหภาพยุโรปเองก็ได้มีจัดการตั้งหน่วยงาน 5G-PPP ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ผสาน
ความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์โครงข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในการร่วมกันวิจัย
และพัฒนาเทคโนโลยีที่รองรับการใช้งานข้อมูลที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในอนาคตในใกล้ ในสหราชอาณาจักรก็เช่นกัน Philip Hammond ผู้ดำรงตำแหน่ง
Chancellor ของเกาะอังกฤษในปัจจุบันได้เปิดเผยกับ wired.co.uk เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559 นี้ ว่า “ปัจจุบันรัฐบาลได้ลงทุนมากกว่า 740 ล้านปอนด์
(หรือประมาณ 33,000 ล้านบาท) ในการวางโครงข่ายการใช้งาน 5G หากแต่ยังไม่ได้มีการกำหนดวันที่สามารถเปิดการใช้งานได้อย่างเป็นทางการได้”

จะเห็นได้ว่าทั่วโลกต่างให้ความสำคัญการพัฒนา 5G กันอย่างขะมักเขม้น โดย ITU ในฐานะหน่วยงานที่เป็นผู้กำหนดมาตรฐานอย่างเป็นทางการของเทคโนโลยี 5G
นั้นก็ได้เปิดเผยว่ามาตรฐานของเทคโนโลยี 5G น่าจะสามารถกำหนดได้อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2563 หรืออีกประมาณ 3 ปีที่จะถึงนี้ ซึ่งในปัจจุบันนี้เอง
สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ผู้พัฒนาเทคโนโลยี 5G ในประเทศต่างๆ ยังคงต้องกุมขมับ ไม่สามารถเปิดการใช้งาน 5G ในเชิงพาณิชย์ได้ นั่นไม่ใช่สาเหตุอื่นใด
นอกจากไม่รู้จะเอาคลื่นตรงไหนมาทำ 5G เนื่องจากในปัจจุบันคลื่น IMT ต่างๆ ถูกนำไปใช้กับเทคโนโลยี 3G และ 4G อย่างแน่นขนัดจนไม่รู้จะแน่นอย่างไร
ซึ่งหากย้อนกลับมามองสำหรับประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ใช้เทคโนโลยีก็อาจต้องรอจนถึงประมาณปี พ.ศ. 2565 – 2566 จึงน่าจะมีการใช้งาน 5G
ได้ในเชิงพาณิชย์ โดยทั่วไป ในระหว่างนี้เราก็ลองมานั่งคิดนอนคิดกันไปก่อนว่ามีคลื่นย่านบ้างที่สามารถนำมาให้บริการ 5G ในอนาคตได้บ้าง
ไม่แน่เราอาจจะได้เห็นเรื่องราวน่าสนใจในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศเราก็อาจจะเป็นได้

ที่มา : http://www.timeconsulting.co.th/5g-%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1/