0

Wi-Fi Off-load ทางเลือกสำหรับการให้บริการ Smart Phone

2018-03-09 10:48:28 ใน Article บทความ » 0 3417

Wi-Fi Off-load ทางเลือกสำหรับการให้บริการ Smart Phone

ไพโรจน์ ไววานิชกิจ

เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายได้ก้าวผ่านจุดเปลี่ยนสำคัญมาเมื่อกว่า 4 ปีที่ผ่านมา จุดเปลี่ยนดังกล่าวมิใช่เรื่องของเทคโนโลยี 3G หรือ Smart Phone ดังที่เห็น
และเป็นอยู่ในปัจจุบัน หากแต่เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างของธุรกิจสื่อสารไร้สายทั้งระบบ หากยังจำกันได้ในอดีต การให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมถูกผูกขาด
เบ็ดเสร็จโดยตัวผู้ให้บริการเครือข่าย ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดเทคโนโลยี เครื่องลูกข่าย รูปแบบการคิดค่าบริการและใช้งาน ผู้บริโภคไม่สามารถเลือกหรือปรับเปลี่ยน
สิ่งใดๆ ได้เลย อำนาจต่อรองทั้งระบบธุรกิจตกอยู่ภายใต้ผู้ให้บริการเครือข่าย แต่หากมองย้อนกลับขึ้นไปอีก ไม่ต่ำกว่า 10 ปีที่แล้ว
อำนาจต่อรองทั้งหมดของอุตสาหกรรมสื่อสารจะอยู่ที่บริษัทผู้ผลิตและคิดค้นเทคโนโลยี ซึ่งเรียกว่าเป็น “เจ้าของเทคโนโลยี” ซึ่งกำหนดทิศทางการพัฒนา
ทางด้านเทคนิค (Technology Roadmap) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมที่เป็นผู้ลงทุนซื้ออุปกรณ์เครือข่ายมาลงทุน จำต้องยอมรับราคาต้นทุน
ของเทคโนโลยีที่ตนไม่สามารถควบคุมได้

 

โลกที่เปลี่ยนไปของอุตสาหกรรมสื่อสารไร้สาย

จุดเปลี่ยนผันของการถ่ายโอนอำนาจต่อรองจากผู้ผลิตเทคโนโลยีมาสู่ผู้ให้บริการเครือข่าย เกิดขึ้นเมื่อมีการเพิ่มจำนวนผู้แข่งขันผลิตอุปกรณ์ โดยเฉพาะ
เมื่อมีผู้ผลิตจากประเทศจีน ซึ่งมีข้อได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิตและบริการ ทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาของอุปกรณ์โทรคมนาคมอย่างรุนแรง
ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม รวมถึงผู้รับอุปกรณ์เครื่องลูกข่ายโทรคมนาคมมาจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง ต่างมีทางเลือกมากขึ้น ในเมื่อคุณภาพของอุปกรณ์
โทรคมนาคมที่ผลิตจากประเทศจีนมีคุณภาพทัดเทียมกับของขาติตะวันตกที่เคยเป็นผู้กุมเทคโนโลยีไว้แต่เดิม ขณะเดียวกันเทคโนโลยีโทรคมนาคม
มีแนวโน้มเบี่ยงเบนเข้าสู่งานพัฒนาด้านซอฟท์แวร์มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ให้บริการเครือข่าย สามารถสร้างสรรค์บริการในรูปแบบพิเศษได้หลากหลายขึ้น
ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวทั้งต้นทุนเครือข่ายที่ต่ำลง ความหลากหลายของอุปกรณ์เครื่องลูกข่าย และความยืดหยุ่น
ในการพัฒนาบริการ ได้กลายเป็นการสร้างกระแสความต้องการ (Demand) ให้กับผู้ให้บริการเครือข่ายทั่วโลก ทำให้ผู้ให้บริการเครือข่าย มีอำนาจควบคุม
ทั้งต่อผู้บริโภค และผู้ผลิตเทคโนโลยี เรียกได้ว่าในยุคที่ผ่านผู้ให้บริกาคเครือข่ายสามารถกำหนดและบัญชาทิศทางของทั้งเทคโนโลยี และการตลาด
ในโลกสื่อสารได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ปัจจุบัน ยุคแห่งการแพร่หลายของบริการสื่อสารไร้สายทุกรูปแบบ โดยเฉพาะเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็น
เทคโนโลยี HSPA (High Speed Packet Access) ซึ่งตัวเทคโนโลยีเองสามารถรองรับการสื่อสารได้ถึง 84 เมกะบิตต่อวินาที ขณะที่ตัวเครื่องลูกข่าย
ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาเพื่อให้มีอัตราเร็วรองรับเครือข่ายได้ทัน พร้อมๆ กับการเริ่มต้นเปิดให้บริการเทคโนโลยีเครือข่าย 4G ด้วยเทคโนโลยี LTE
(Long Term Evolution Technology) ซึ่งตั้งเป้าเริ่มต้นให้บริการ ด้วยอัตราเร็วในระดับ 100 เมกะบิตต่อวินาทีขึ้นไป ขณะเดียวกันเทคโนโลยีสื่อสาร
พื้นที่แคบอย่าง Wi-Fi ก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตัวเทคโนโลยี Wi-Fi เองก็ได้รับการพัฒนา จนสามารถรองรับการสื่อสารด้วยอัตราเร็วถึง 300 เมกะบิต
ต่อวินาทีด้วยมาตรฐาน IEEE 802.11n นอกจากนั้นยังมีความพยายามในการประยุกต์ใช้ Wi-Fi เปิดให้บริการ ร่วมกับสายอากาศอัตราขยายสูง
ให้บริการสื่อสารข้อมูลไร้สายในพื้นที่กว้างแบบเดียวกับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เซลลูล่าร์
รูปที่ 1 การพลิกบทบาทหน้าที่ในห่วงโซ่ธุรกิจสื่อสารจากอดีตถึงปัจจุบัน


ในเมื่อเครือข่ายสื่อสารไร้สายอยู่ในสภาพพร้อมให้บริการเช่นนี้ การเติบโตของตลาดเครื่องลูกข่าย และความพร้อมของโลกแอปพลิเคชั่น
จึงเป็นปัจจัยสุดท้ายที่จะต่อเติมภาพของอุตสาหกรรมสื่อสารไร้สายให้สมบูรณ์ ซึ่งนับตั้งแต่ พ.ศ. 2551 เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ Smart Phone
เทคโนโลยี E-book Reader รวมถึงอุปกรณ์สื่อสาร แบบ Tablet PC ก็ได้รับการพัฒนาแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะการสร้างแรงผลักดันแบบพลิกประวัติศาสตร์
ธุรกิจสื่อสาร โดยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ iPhone และ iPad ของค่าย Apple Inc. ซึ่งจุดชนวนการพัฒนาอุปกรณ์สื่อสารไร้สายให้กับค่ายผู้ผลิตต่างๆ ทั่วโลก
ตลอดจนการเติบโตของระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์สื่อสารไร้สายค่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น IOS, Android, Blackberry ทำให้ส่วนแบ่งของอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย
สายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายไปทั่วโลก

สิ่งที่เป็นประเด็นสุดท้ายซึ่งทำให้โครงสร้างของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน ก็คือความแพร่หลายของเทคโนโลยีประมวลผล
ผ่านเครือข่ายอย่าง Cloud Computing ที่ทำให้ผู้ประกอบการที่มีต้นทุนน้อย สามารถเช่าบริการประมวลผล จนถึงการจัดเก็บข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้
ด้วยต้นทุนที่ต่ำ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด ก็คือ การถือกำเนิดและการแพร่ขยายอย่างรวดเร็วของบริการออนไลน์ต่างๆ ตั้งแต่แอปพลิเคชั่นอย่าง
Facebook, YouTube ไปจนถึงแอปพลิเคชั่นสำหรับการใช้งานผ่านเครือข่ายสื่อสารไร้สายอีกนับร้อยนับพันประเภท

ผลที่เกิดขึ้นก็คือผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นรายใหญ่และรายย่อย สามารถเข้าถึงตัวผู้บริโภคได้โดยตรง สามารถเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคทำบริการธุรกรรมโดยตรง
กับตนได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีค่าโสหุ้ยใดๆ กับผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อสารไร้สายที่ตนเชื่อมต่ออุปกรณ์สื่อสารเพื่อใช้งานอยู่ ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ ก็คือ
การชำระค่าบริการโทรศัพท์ Skype ผ่านบัตรเครดิตไปยังเซิร์ฟเวอร์ของ Skype โดยตรง หรือการเข้าถึงบริการ AppStore ของ Apple โดยผ่านทางแอปพลิเคชั่น
บนเครื่อง iPhone หรือ iPad โดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับบริการใดๆ ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้บทบาทหน้าที่ของผู้ให้บริการเครือข่าย
กลายเป็นเพียงท่อนำข้อมูล (Information Bit Pipe) ซึ่งไม่อาจหาหรือสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ใดๆ ได้เลย เป็นการทำลายความฝันของผู้ให้บริการเครือข่าย
ในยุคอดีต ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมามีแผนการที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเครือข่ายของตน ด้วยการจัดเตรียมเทคโนโลยีพิเศษต่างๆ เพื่อผู้ให้บริการของตน ไม่ว่าจะเป็น
ระบบบอกพิกัดตำแหน่งที่อยู่ (Location Based Application) ซึ่งปัจจุบันถูกกลไกบอกตำแหน่งอัตโนมัติด้วยอุปกรณ์ GPS (Global Positioning System)
บนเครื่องลูกข่ายแย่งงานไปโดยปริยาย หรือแม้กระทั่งระบบหักบัญชีสำหรับทำรายการธุรกรรมอัตโนมัติ ซึ่งถูกแอปพลิเคชั่นสำหรับทำรายการธุรกรรมออนไลน์
ของธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ แย่งบทบาทหน้าที่ไปอย่างสมบูรณ์แบบ
รูปที่ 2 ความหลากหลายของแอปพลิเคชั่นที่มีใช้งานบนอุปกรณ์สื่อสารไร้สายปัจจุบัน

ผู้บริโภคในปัจจุบันมีทั้งความรู้ และทางเลือกในการใช้บริการเครือข่ายมากขึ้น ผู้บริโภคมีความจงรักภักดีต่อการให้บริการเครือข่ายต่ำมาก เนื่องจากในโลกปัจจุบัน
ซึ่งเน้นการสื่อสารข้อมูลมากกว่าการพูดคุยสนทนา แม้กระทั่งการพูดคุยก็สามารถใช้บริการ Voice over IP ซึ่งมีราคาค่าใช้บริการต่ำกว่ามาก ผู้บริโภคสามารถ
ตัดสินใจเปลี่ยนค่ายไปใช้บริการ SIM Card จากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นๆ ได้แทบจะทันที โดยมีปัจจัยในการพิจารณาที่คุณภาพ
และการคิดราคาค่าใช้บริการเครือข่ายเท่านั้น


ทุกวันนี้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำเป็นต้องหาทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเครือข่ายของตน มิฉะนั้นโลกสื่อสารยุคใหม่ในยุค Mobilution
ซึ่งเป็นคำผสมระหว่าง Mobile ที่หมายถึงการสื่อสารขณะเคลื่อนที่โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสื่อสารไร้สาย กับคำว่า Solution ซึ่งหมายถึงการใช้ประโยชน์
จากอุปกรณ์สื่อสาร แอปพลิเคชั่น และเครือข่ายไร้สาย จะกลายเป็นการสมประโยชน์กันระหว่างผู้บริโภคที่มีความภักดีต่อผู้ให้บริการเครือข่ายต่ำ กับผู้ให้บริการ
แอปพลิเคชั่น หรือค่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ Smart Phone ที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการให้บริการแอปพลิเคชั่น

สำหรับในประเทศไทย ความล่าช้าในการประมูลและออกใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ย่านความถี่มาตรฐาน 2.1 กิกะเฮิร์ตซ ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถทำนาย
ได้ว่าจะมีความคืบหน้าเมื่อใด จนกว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีผลทำให้ผู้ให้บริการ
เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่หลักทั้ง 3 ค่าย คือ AIS, DTAC และ True Move ตัดสินใจลงทุนสร้างเครือข่าย 3G ในย่านความถี่สัมปทานเดิมของตน หรืออาจมี
การทำสัญญาขอร่วมใช้ทรัพยากรความถี่วิทยุของภาครัฐไปก่อน เนื่องจากปัจจุบันขีดความสามารถของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G ที่เป็นเทคโนโลยี EDGE ของตน
ไม่สามารถรองรับการใช้งานสื่อสารข้อมูลของอุปกรณ์ Smart Phone ได้อีกต่อไปแล้ว จะเห็นได้ว่าค่าย True Move มีการเดินหน้าเปิดให้บริการ 3G ย่านความถี่
850 เมกะเฮิร์ตซ ในกรุงเทพมหานครและเมืองสำคัญต่างๆ ไปแล้ว ขณะที่ AIS มีการประกาศเปิดให้บริการ 3G ย่านความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่
เดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2554 ขณะที่บริษัท TOT ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐก็เร่งเดินหน้าประมูลโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ ซึ่งมีสิทธิ์
ในการให้บริการแต่เพียงผู้เดียว ทั้งหมดนี้เป็นการเร่งยกระดับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อให้พร้อมรับมือกับปริมาณการใช้งานสื่อสารข้อมูลจำนวนมหาศาลผ่านอุปกรณ์
Smart Phone และ Tablet PC

 

Wi-Fi Off-load เทคโนโลยีทางเลือก

ความแตกต่างระหว่างโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ Smart Phone และโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สนับสนุนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตชนิดเต็มรูปแบบและ Air Card อยู่ที่พฤติกรรมในการร้องขอใช้ช่องสัญญาณคลื่นวิทยุ (Radio Channel) จากเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรศัพท์เคลื่อนที่ Smart Phone ได้รับการออกแบบมาโดยเน้นให้บริการในลักษณะตามเวลาจริง (Realtime) กล่าวคือทุกครั้งที่แอปพลิเคชั่นที่มีการติดตั้งใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาแอปพลิเคชั่นประเภท Social Network อย่าง Facebook, Twitter, MySpace ฯลฯ รวมไปถึงแอปพลิเคชั่นประเภท Chatting ต่างๆ ต้องมีการอัพเดตข้อมูลกับศูนย์ให้บริการส่วนกลาง โทรศัพท์เคลื่อนที่ Smart Phone เหล่านี้ก็จะมีการร้องขอใช้ช่องสัญญาณรับส่งข้อมูลโดยเป็นการร้องขอเป็นช่วงสั้นๆ หยุดๆ ส่งๆ ต่อเนื่อง ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจากปรัชญาในการออกแบบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ช่องสัญญาณวิทยุบนเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่าย 2G หรือ 3G ของแต่ละเครือข่าย หรือแม้กระทั่งเครือข่ายเดียวกัน แต่ใช้งานต่างพื้นที่ หรือต่างเวลากัน จะมีความหนาแน่นของทราฟฟิคไม่เท่ากัน หากออกแบบให้ Smart Phone มีการเชื่อมต่อค้างไว้แล้วดาวน์โหลดหรืออัพโหลดข้อมูลจนเสร็จสิ้น อาจเกิดปัญหาว่าช่องสัญญาณไม่ว่างเพียงพอสำหรับการรับส่งข้อมูลเป็นเวลานานๆ บางครั้งอาจต้องรอให้ช่องสัญญาณว่าง จนเป็นเหตุให้ผู้ใช้บริการซึ่งซื้อ Smart Phone เหล่านั้นไปใช้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี และกลายเป็นจุดด้อยในการแข่งขันทำตลาดของผู้ผลิต Smart Phone

เป็นที่ทราบกันดีว่าสภาพความพร้อมในการให้ใช้ช่องสัญญาณวิทยุของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละพื้นที่ แต่ละเวลา หรือแม้กระทั่งแต่ละเครือข่าย มีความไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปริมาณทราฟฟิคใช้งานในขณะนั้น ผู้ผลิต Smart Phone เริ่มตั้งแต่ Black Berry จึงเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของเครื่องลูกข่ายให้เน้นการร้องขอทรัพยากรช่องสัญญาณสื่อสารข้อมูลจากเครือข่ายบ่อยๆ แทน การเชื่อมต่อแต่ละครั้งก็เป็นเพียงการดาวน์โหลดหรืออัพโหลดข้อมูลสั้นๆ จากนั้นจึงปล่อยช่องสัญญาณให้เครื่องลูกข่ายเครื่องอื่นใช้งานต่อไป

หากมองในแง่ของการใช้ทรัพยากรช่องสื่อสารข้อมูลบนคลื่นวิทยุแล้ว การออกแบบเช่นนี้ก็ไม่ได้ส่งผลเสียต่อการให้บริการในภาพรวม แต่ในความเป็นจริง พฤติกรรมดังกล่าวได้สร้างผลกระทบต่อการบริหารขัดการช่องสัญญาณควบคุม (Control Channel) บนเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เนื่องจากการออกแบบข้อกำหนดทางเทคนิคของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งมาตรฐาน 2G และ 3G ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าในโลกนี้ไม่เคยมีและไม่น่าจะมีการออกแบบกลไกการขอใช้ช่องสัญญาณรับส่งข้อมูลบ่อยๆ และเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เหมือนดังที่เกิดขึ้นกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ Smart Phone จึงมิได้เผื่อจำนวนช่องสัญญาณควบคุมที่ใช้ในการร้องขอทรัพยากรเครือข่ายไว้เพียงพอ ผลที่ตามมาก็คือเมื่อมี Smart Phone เช้าใช้งานในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งภายในเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มากๆ ประกอบกับประเภทของแอปพลิเคชั่นที่มีการใช้งานบนเครื่อง Smart Phone มีหลากหลายมากขึ้น แอปพลิเคชั่นแต่ละตัวก็จะผลัดกันร้องขอเชื่อมต่อเครือข่าย จึงมีผลทำให้ช่องสัญญาณควบคุมเกิดภาวะหนาแน่น และกลายเป็นทำให้ไม่สามารถรองรับบริการพื้นฐานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการโทรออก รับสายเข้า หรือแม้กระทั่งเกิดการติดขัดในการจัดสรรช่องสื่อสารสำหรับรับส่งข้อมูลด้วยกันเอง

รูปที่ 3 พฤติกรรมการขอใช้ช่องสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ Smart Phone ซึ่งจะเห็นว่ามีการร้องขอใช้ช่องสัญญาณควบคุมถี่มาก ทั้งๆ ที่ปริมาณข้อมูลที่ใช้ส่งมีไม่สูงมาก (ข้อมูลจาก http://www.admob.com)

รูปที่ 3 แสดงให้เห็นถึงสภาวะที่ไม่สมดุลระหว่างสัดส่วนการขอใช้ช่องสัญญาณควบคุมของ Smart Phone ในเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งแทนด้วยกราฟเส้นบน กับสัดสัดส่วนการใช้ช่องสัญญาณเพื่อรับส่งข้อมูล แสดงด้วยกราฟเส้นล่าง จะเห็นว่าอันที่จริงแล้วปริมาณการรับส่งข้อมูลของ Smart Phone นั้นมิได้มีมากจนถึงขนาดก่อปัญหาด้านทราฟฟิคข้อมูลให้กับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่ปัญหากลับอยู่ที่ความถี่ในการร้องขอใช้ช่องสัญญาณควบคุม ซึ่งจะกลายเป็นภาวะวิกฤตต่อสถานีฐานที่ให้บริการนั้นๆ หากปริมาณผู้ใช้ Smart Phone เพิ่มสูงขึ้นถึงระดับหนึ่ง ทั้งนี้ภาวะวิกฤตจะเกิดเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับสภาพการใช้งานสถานีฐานนั้นของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เพื่อการสนทนา และรับส่งข้อมูลผ่าน Air Card และโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วไป หากเป็นพื้นที่กลางเมืองที่มีผู้คนพลุกพล่าน เช่น ย่านสนามสแควร์ โอกาสที่จะเกิดปัญหาในการร้องขอช่องสัญญาณ เนื่องจากช่องสัญญาณควบคุมเต็มก็มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้รวดเร็วกว่าย่านชานเมือง

รูปที่ 4 ซึ่งเป็นข้อมูลจาก admob ช่วยยืนยันว่าอัตราการร้องขอใช้ช่องสัญญาณควบคุมโดยเฉลี่ยภายในเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีจำนวนผู้ใช้งานเครื่องแบบ Smart Phone เป็นจำนวนมากกำลังขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แสดงโดยกราฟเส้นล่าง เมื่อเปรียบเทียบความชันซึ่งแสดงถึงอัตราเร็วในการขยายตัว กับปริมาณการรับส่งข้อมูล (หน่วยเป็นกิกะไบต์) ซึ่งมีความชันน้อยกว่า ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าหากจะเกิดปัญหาช่องสัญญาณบนคลื่นความถี่วิทยุเต็มจนไม่สามารถให้บริการสื่อสารใดๆ ภายในเครือข่ายได้ ปัญหานั้นจะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการร้องขอใช้ช่องสัญญาณควบคุมถี่ๆ มากกว่าพฤติกรรมการรับหรือส่งทราฟฟิคเป็นจำนวนมากๆ และเมื่อพิจารณาถึงข้อมูลในรูปที่ 5 ก็จะยิ่งเห็นว่าปัจจุบันขณะที่จำนวนเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ Smart Phone ยังมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ชนิดอื่นๆ กล่าวคือประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูลเดือนพฤษภาคม 2553) แต่ Smart Pnone เหล่านี้ก็แสดงบทบาทในการสร้างภาระให้กับช่องสัญญาณควบคุมไปแล้วถึง 55 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความได้ว่า ตลาด Smart Phone ที่กำลังมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั่วโลก กำลังจะสร้างปัญหาให้กับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเรื่องของการบริหารจัดการช่องสัญญาณควบคุมในไม่ช้า

รูปที่ 4 อัตราการร้องขอใช้ช่องสัญญาณควบคุมของ Smart Phone มีการขยายตัวรวดเร็วกว่าปริมาณทราฟฟิคข้อมูลที่ Smart Phone ทำการรับส่ง และกำลังจะกลายเป็นวิกฤตต่อการให้บริการโดยรวมของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ข้อมูลจาก www.admob.com)

รูปที่ 5 สัดส่วนของ Smart Phone เมื่อเทียบกับตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด ซึ่งมีค่าเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ กำลังสร้างปัญหาการใช้ช่องสัญญาณควบคุม ซึ่งส่งผลให้มีการใช้งานในสัดส่วนสูงถึง 55 เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูลจาก http://www.admob.com)

รูปที่ 6 ยืนยันการเกิดวิกฤตการณ์ดังกล่าว ด้วยการเปรียบเทียบสัดส่วนความต้องการขอใช้ช่องสัญญาณควบคุมระหว่าง Smart Phone กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วไป ซึ่จะเห็นได้ว่า Smart Phone มีอัตราความต้องการขอใช้ช่องสัญญาณ (ความถี่ในการร้องขอ) สูงกว่าของโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วไปถึงกว่า 18 เท่า ตัวเลขนี้มีโอกาสทวีค่ามากขึ้น หากแอปพลิเคชั่นที่มีการใช้งานบน Smart Phone มีความหลากหลาย และต้องการติดต่อกับเครือข่ายถี่มากขึ้น จึงเป็นการยืนยันว่าเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตจากผลของพฤติกรรมในการร้องขอใช้ช่องสัญญาณจากโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ Smart Phone และจำเป็นจะต้องหากลไกการทำงานใหม่ๆ ที่ช่วยป้องกันการเกิดปัญหาดังกล่าว

รูปที่ 6 สัดส่วนความต้องการร้องขอใช้ช่องสัญญาณควบคุมระหว่างโทรศัพท์เคลื่อนที่ Smart Phone กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วไป ซึ่งโดยเฉลี่ย Smart Phone มีความต้องการใช้ช่องสัญญาณควบคุมจากเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงกว่าโทรศัพท์ทั่วไปถึง 18 เท่า (ข้อมูลจาก http://www.admob.com)

ข้อมูลจาก Pyramid Research พยากรณ์ไว้ว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ Smart Phone จะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด จากจำนวน 232 ล้านเครื่องทั่วโลก ใน พ.ศ. 2553 ไปเป็น 532 ล้านเครื่องใน พ.ศ. 2557 ซึ่งในทางปฏิบัติ อัตราการเติบโตของจำนวนเครื่อง Smart Phone อาจมีมากกว่านี้ ทั้งจากแรงผลักดันในเรื่องของแอปพลิเคชั่น รูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคที่จำเป็นต้องพึ่งพาอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย สำหรับใช้บริการออนไลน์ต่างๆ มากขึ้น ผลที่ตามมาก็คือสภาพของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งแม้ในปัจจุบันจะเป็นเครือข่าย 3G แต่ก็ไม่สามารถรองรับการรูปแบบการจับใช้ช่องสัญญาณของเครือข่ายได้ กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ปรัชญาการออกแบบเทคโนโลยี 3G ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองพฤติกรรมการทำงานชองอุปกรณ์สื่อสารแบบ Smart Phone ได้

เทคโนโลยี 4G เช่น LTE (Long Term Evolution) หรือ TD-LTE (Time Division – LTE) กำลังได้รับการเร่งพัฒนาเพื่อให้สามารถให้บริการทั่วโลกได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ในสภาพการณ์ปัจจุบันที่เครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ Smart Phone ได้รับความนิยมใช้งานอย่างแพร่หลาย และกำลังจะพัฒนาไปเป็นการใช้งานอุปกรณ์สื่อสารแบบ Tablet ดังเช่นที่เริ่มได้รับการจุดประกายโดยผลิตภัณฑ์ iPad จากค่าย Apple ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการแข่งขันพัฒนาอุปกรณ์สื่อสารในลักษณะดังกล่าว อันเป็นอุปกรณ์ที่ต้องการใช้ทรัพยากรเครือข่ายสื่อสารในปริมาณที่มาก คาดว่าในระยะเวลาอันสั้นเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ย่อมไม่สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานอันมหาศาลนี้ได้ทัน จนน่าจะส่งผลให้เกิดการลดทอนประสิทธิภาพของเครือข่ายลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีความค้องการสื่อสารที่สูงมาก แต่เครือข่ายพัฒนาขีดความสามารถตามไม่ทัน

ทางเดียวที่สามารถลดระดับความรุนแรงของการบริโภคทรัพยากรคลื่นความถี่วิทยุของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ 3G และ 4G ได้ คือการสร้างเครือข่าย Wi-Fi หรือ Wireless LAN ในพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการใช้ Smart Phone หนาแน่น ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่พ้นตามบริเวณห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า โรงแรม สถานที่ชุมชน รวมถึงอาคารสำนักงาน และสถานศึกษาต่างๆ โดยบรรดาผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จะผลักให้อุปกรณ์ Smart Phone ย้านไปจับใช้สัญญาณวิทยุจากเครือข่าย Wi-Fi แทน เมื่อมีการใช้งานในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ช่องสัญญาณและทรัพยากรของเครือข่าย 3G ว่างจากปริมาณการใช้งานอันหนักหน่วงและรุนแรง มีขีดความสามารถเหลือพอที่จะให้บริการ 3G ให้กับผู้ใช้บริการที่มีความจำเป็นต้องใช้งานจริงๆ เช่น การใช้งานขณะขับขี่ยานพาหนะ หรืออยู่นอกอาคารสถานที่ ซึ่งในทางปฏิบัติ การใช้งานในพื้นที่เหล่านี้ ผู้ใช้บริการก็มิได้มีความต้องการใช้ช่องสัญญาณมากมาย เหมือนกับตอนที่อยู่ภายในพื้นที่เฉพาะ หรือมิได้มีการเคลื่อนที่ ทำให้สามารถประวิงเวลารักษาคุณภาพของเครือข่าย 3G ได้ต่อไป

รูปที่ 7 แนวทางการให้บริการ Wi-Fi Offload ของกลุ่มบริษัท AIS

เทคนิคการใช้เครือข่าย Wi-Fi ในการแบ่งเบาภาระการใช้งานจากเครือข่าย 3G นี้มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า Wi-Fi Off-load เป็นทางเลือกหลักที่บรรดาผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลก ที่ประสบปัญหาการเติบโตที่รุนแรงของผู้ใช้บริการ Smart Phone ต่างใช้เป็นทางเลือกในการให้บริการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การให้บริการของค่าย True Move ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ Wi-Fi Access Point จำนวนกว่า 17,000 จุดทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อให้ลูกค้าผู้ใช้บริการของตนสามารถใช้งานควบคู่ไปกับการจับช้งานเครือข่าย 3G ย่านความถี่ 850 เมกะเฮิร์ตซของตน พร้อมกันนี้ True Move ได้ทำการประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ พร้อมกับสร้างประสบการณ์การใช้งาน Smart Phone ในสภาพแวดล้อมเครือข่ายทั้ง 3G และ Wi-Fi ทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความเข้าใจ และคุ้นเคยกับการให้บริการในลักษณะดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ค่าย AIS ก็มีการสร้างเครือข่ายสื่อสารไร้สายให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง (Seamless Operation) ระหว่างเครือข่าย 3G ไปยังเครือข่าย EDGE (ภายใต้ชื่อเครื่องหมายการค้า EDGE+) โดยมีเครือข่าย WiFi ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับโครงข่ายของบริษัท Triple 3 Broadband (3BB) เป็นการทำให้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ Smart Phone สามารถจับใช้งานเครือข่ายที่เหมาะสมกับตำแหน่งที่อยู่ของผู้ใช้บริการแต่ละราย

คาดกันว่าผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นๆ ในประเทศไทย ก็จะทะยอยสร้างเครือข่าย Wi-Fi ไปพร้อมๆ กับการขยายเครือข่าย 3G ซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับกลยุทธ์ทางด้านเครือข่ายของผู้ให้บริการรายอื่นๆ ทั่วโลก

รูปที่ 8 True Move กับการให้บริการ Wi-Fi Off-load ผสมผสานกับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G

ข้อดีของการกำหนดกลยุทธ์ Wi-Fi Off-load ก็คือ ผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถกำหนดราคาการใช้บริการได้ ยอกเหนือจากเพียงการผูกติดอยู่กับการคิดค่าใช้บริการผ่านเครือข่าย 3G เพียงอย่างเดียว ถือเป็นการยกระดับโครงสร้างการคิดราคาค่าบริการขึ้นอีกระดับหนึ่ง และประวิงเวลาในการเข้าสู่การแข่งขันตัดราคากันบนเครือข่าย 3G จนทำให้เสียราคาค่าบริการ สิ่งที่สนับสนุนความสำเร็จในการให้บริการ Wi-Fi Off-load อยู่ที่ความพร้อมของเครื่องลูกข่าย Smart Phone รวมถึง Feature Phone ในท้องตลาดที่ส่วนใหญ่รองรับการเชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi อยู่แล้ว ทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถพัฒนาปรับปรุงขีดความสามารถทางเทคนิคของเครือข่าย เพื่อให้เครือข่าย 2G หรือ 3G ที่ตนให้บริการอยู่สามารถ ทำงาร่วมกับเครือข่าย Wi-Fi ได้ โดยยังคงสามารถบันทึกค่าใช้จ่าย และควบคุมคุณภาพการให้บริการแก่ลูกค้าของตนได้ ไม่ว่าจะจับใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ Wi-Fi อยู่ก็ตาม

รูปที่ 9 จำนวน Hot Spot ของอุปกรณ์ W-Fi ภายในเครือข่าย AT&T ในสหรัฐอเมริกา (ภาพประกอบจาก Proxim Wireless)

กรณีศึกษาที่น่าสนใจของการให้บริการ Wi-Fi Off-load ก็คือการเปิดให้บริการ 3G ร่วมกับ Wi-Fi ของค่ายผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นการที่บริษัท AT&T ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการของบริษัท Wayport ซึ่งดำเนินธุรกิจให้บริการ Wi-Fi ทั่วประเทศ ทำให้ AT&T สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Wi-Fi Off-load ได้ผ่านทางอุปกรณ์ Wi-Fi Hot Spot ซึ่งได้รับการวางติดตั้งไว้ในพื้นที่สำคัญทั่วสหรัฐอเมริกา มีขนาดความจุรวมกันในระดับที่รองรับจำนวนผู้ใช้บริการ Wi-Fi โดยลำพังถึงเกือบ 60 ล้านราย (ข้อมูล ในไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2553) หรือกรณีที่บริษัท Verizon ผู้ให้บริการเครือข่าย 3G อีกรายหนึ่งตัดสินใจทำสัญญาเป็นพันธมิตรร่วมกับบริษัท Boingo Wireless ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Wi-Fi ระดับโลก ที่ปัจจุบันก็มีการทำสัญญาร่วมกับค่าย True ในประเทศไทย รวมทั้งกรณีที่กลุ่มบริษัท Orange ร่วมมือกับ Vodafone เพื่อให้บริการ Wi-Fi Off-load สำหรับลดปริมาณการใช้งานที่หนักหน่วงต่อเครือข่าย 3G ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวจะมีการขยายขอบเขตมากขึ้น จนแม้กระทั่งเมื่อมีการเปิดให้บริการ 4G โดยเทคโนโลยี LTE ในอนาคตอันใกล้ ก็เชื่อกันว่าแนวทางการให้บริการแบบ Wi-Fi Off-load จะยังคงเป็นรูปแบบการให้บริการทางธุรกิจของผู้ให้บริการเครือข่ายต่อไป

ข้อดีของการให้บริการ Wi-Fi Off-load

อันที่จริงแล้วผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนก็มีทางเลือกอีกหลายรูปแบบ สำหรับรับมือกับการขยายตัวของโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ Smart Phone ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนขยายเครือข่าย 3G หรือการติดตั้งสถานีฐาน 3G หรือ2G ขนาดจิ๋วที่มีชื่อเรียกว่า Femto Cell ในพื้นที่เฉพาะที่มีปริมาณเครื่องลูกข่ายแบบ Smart Phone หนาแน่น แต่การลงทุนทั้ง 2 ประการต้องใช้งบประมาณที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับการเลือกใช้เทคนิคการผลักการใช้งานไปสู่เครือข่าย Wi-Fi รูปที่ 10 แสดงถึงแนวคิดพื้นฐานในการควบคุมให้เครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เลือกจับใช้งานเครือข่าย Wi-Fi ในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่น และผู้ใช้บริการมิได้เคลื่อนที่มากนัก

รูปที่ 10 การให้บริการเครื่องลูกข่าย 3G Smart Phone ร่วมกับเครือข่าย Wi-Fi

หากพิจารณาในแง่ของต้นทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเครือข่าย 3G ระหว่างการลงทุนติดตั้งสถานีฐานจิ๋วกับการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ Wi-Fi Hot Spot แล้วจะพบว่าอุปกรณ์ Wi-Fi มีราคาถูกกว่าพอสมควร และถึงแม้จะอยู่ที่ระดับราคาใกล้เคียงกัน แต่ความสะดวกในแง่ของจำนวนช่องสัญญาณวิทยุในกรณีของเทคโนโลยี Wi-Fi มีมากกว่าในกรณีของ Femto Cell ไม่ว่าจะใช้ Femto Cell แบบ 2G หรือ 3G ก็ตาม ทั้งนี้เพราะผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังมีภาระต้องทำการวางแผนความถี่ให้กับอุปกรณ์ Femto Cell มิให้เกิดการรบกวนกับการทำงานของเครือข่าย 3G ที่ให้บริการในพื้นที่กว้าง ในขณะที่ Wi-Fi ไม่มีปัญหาดังกล่าว อีกทั้งยังมีขีดความสามารถในการรองรับการสื่อสารข้อมูลที่สูงกว่าเครือข่าย 3G และ 2G แม้จะมีข้อจำกัดที่ว่า Wi-Fi Ho Spot มีพื้นที่ให้บริการที่ไม่มากนัก ในระยะไม่ถึง 100 เมตร แต่ก็นับว่าเหมาะกับการให้บริการผู้ใช้ Smart Phone ที่อยู่ประจำที่ หรือเคลื่อนที่อยู่ภายในพื้นที่ใช้งาน เช่น ร้านกาแฟ ร้านหนังสือ หรือแม้กระทั่งในลอบบี้โรงแรม หรืออาคารสำนักงานเป็นต้น

ตารางที่ 1 : เปรียบเทียบความต้องการทางเทคนิคระห่างเทคโนโลยี Wi-Fi กับ Femto Cell

ย่านความถี่ ความกว้างแถบความถี่

เทคโนโลยี Wi-Fi 2.400 ถึง 2.483 เมกะเฮิร์ตซ 83 เมกะเฮิร์ตซ

5.250 ถึง 5.875 เมกะเฮิร์ตซ 505 เมกะเฮิร์ตซ

เทคโนโลยี Femto Cell

(กรณี 2G EDGE) 900 เมกะเฮิร์ตซ 35 + 35 เมกะเฮิร์ตซ

1800 เมกะเฮิร์ตซ 75 + 75 เมกะเฮิร์ตซ

ตารางที่ 2 : เปรียบเทียบขีดความสามารถในการให้บริการระหว่างเทคโนโลยี Femto Cell กับ Wi-Fi

เทคโนโลยี Femto Cell

(3G HSPA) เทคโนโลยี Wi-Fi

(802.11n)

อัตราเร็วในการรับส่งข้อมูล 14 เมกะบิตต่อวินาที

(มาตรฐาน 3GPP Release 5) 600 เมกะบิตต่อวินาที

อัตราเร็วสุทธิสำหรับผู้ใช้บริการ 12 เมกะบิตต่อวินาที 350 เมกะบิตต่อวินาที

รูปแบบการมอดูเลตสัญญาณ OFDM DSSS และ OFDM

ปัจจุบัน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ สามารถกำหนดเงื่อนไขให้เฉพาะผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ของตนเท่านั้น ที่จะสามารถใช้ Smart Phone จับใช้งานเครือข่ายได้ โดยมีเทคโนโลยีที่ใช้ในการตรวจยืนยันผู้ใช้บริการ (Subscriber Authentication) โดยให้อุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการ Wi-Fi Hot Spot ทำการตรวจสอบข้อมูลใน SIM Card ที่บรรจุอยู่ภายในเครื่อง Smart Phone ก่อนจะทำการยืนยันให้ Smart Phone เครื่องดังกล่าวสามารถจับใช้งาน Hot Spot ได้ ซึ่งเป็นการป้องกันมิให้บุคคลผู้อื่นซึ่งมิได้เป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน และพยายามใช้ Smart Phone หรือเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คเข้ามาจับใช้งาน Hot Spot

รูปที่ 11 อุปกรณ์ Wi-Fi Hot Spot

เทคโนโลยี Wi-Fi ในปัจจุบันได้รับการพัฒนาจากอดีตไปอย่างก้าวกระโดด มาตรฐาน IEEE 802.11n ในอุปกรณ์ Hot Spot รุ่นล่าสุดที่สามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด รองรับการสื่อสารข้อมูลด้วยอัตราเร็วสูงถึง 600 เมกะบิตต่อวินาที มีเทคโนโลยีการมอดูเลตสัญญาณแบบใหม่ที่ทำให้สามารถเพิ่มระยะทางให้บริการได้มากกว่ามาตรฐาน Wi-Fi รุ่นแรกๆ อย่าง IEEE 802.11g นอกจากนั้นยังมีย่านความถี่ที่กว้างถึง 505 เมกะเฮิร์ตซ ให้เลือกปรับแต่งใช้งานในกรณีที่เกิดปัญหาใช้ความถี่ซ้ำกับ Hot Spot อื่นๆ การติดตั้งใช้งานทำได้ง่ายโดยเชื่อมต่อผ่านทางสายสัญญาณแบบ IP และกำหนดให้ Hot Spot นั้นรับส่งข้อมูลผ่านไปยังอุปกรณ์ IP Gateway ซึ่งติดตั้งอยู่ภายในเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ที่สำคัญก็คือการปรับแต่งกำหนดค่ากลไกการทำงานภายในอุปกรณ์ Hot Spot เพื่อให้สามารถทำการส่งข้อมูลเพื่อตรวจยืนยันเลขหมายผู้ใช้บริการ Smart Phone ที่บรรจุใน SIM Card หรือภายในตัวเครื่อง Smart Phone เอง โดยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับอุปกรณ์ IP Gateway ทำได้ง่ายและไม่ยุ่งยากซับซ้อน ส่งผลให้ใช้เวลาในการติดตั้ง Hot Spot พร้อมกับปรับแต่งจนพร้อมใช้งาน ทำได้ในเวลาอันสั้น

การให้บริการ Wi-Fi Off-load ในตลาดสื่อสารไร้สายไทย น่าจะทวีความเข้มข้น และมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงระหว่างผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในขณะที่เริ่มมีความพยายามของผู้ให้บริการเครือข่ายที่จะเปิดให้บริการ 3G แม้จะเป็นย่านความถี่ทางเลือก เช่น 850 หรือ 900 เมกะเฮิร์ตซ แต่ก็ถือเป็นการกระตุ้นการขยายตัวของตลาด Smart Phone และ Tablet PC อย่าง iPad ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ในระดับที่สูงอยู่แล้ว ให้มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดขึ้นอีก ผลที่เกิดตามมาก็คือปริมาณข้อมูลและการใช้งานอย่างมหาศาล ข้อพิจารณาของผู้ใช้บริการ Smart Phone จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องศึกษาว่า ผู้ให้บริการเครือข่ายรายใดที่มีศักยภาพเพียงพอในการให้บริการ Wi-Fi Off-load ในพื้นที่สำคัญ อย่างน้อยก็เพื่อให้การใช้บริการของตนเป็นไปโดยไม่ติดขัดแม้อยู่ในพื้นที่ชุมชมขนาดใหญ่ก็ตาม